Thailand SAP User Group (THSUG) จับมือพันธมิตร จัดกิจกรรม THSUG Forum ครั้งที่ 2

กองบรรณาธิการ

Thailand SAP User Group (THSUG) จัดกิจกรรม THSUG Forum ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ Journey to Sustainability Development & Best Run Award Ceremony ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสเอพี (ประเทศไทย) จำกัด

 นายพลปิยะ ฐิติเวส ผู้อำนวยการการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง  บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน):ตอกย้ำพันธกิจขององค์กรเรื่องการสร้างสรรค์และแบ่งปันมูลค่าของการเติบโต (Creating and Sharing Value of Growth) ผ่านนวัตกรรมต่างๆ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยยึดหลักการบริหารงานภายใต้ 2 กรอบปฏิบัติใหญ่ ได้แก่ UNSDG (หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ) ควบคู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดรับกับกรอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด ESG ที่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล และเพื่อให้เห็นภาพของความยั่งยืนในทุกๆ ขั้นตอนการดำเนินงาน คุณพลปิยะจึงได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษา เรื่องการบริหารจัดการห่วงโซ่มูลค่าและห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain & Supply Chain) ที่ไทยเบฟได้ลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อสนับสนุนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จนสามารถผ่านมาตรฐานเกณฑ์การประเมินเรื่องความยั่งยืน  ยุทธศาสตร์เหล่านี้ผลักดันให้ไทยเบฟเติบโตอย่างเข้มแข็งและเป็นบริษัทเอเชียรายแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดผู้นำเรื่องความยั่งยืนสูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มเป็นเวลา 4 ปี ซ้อน (Dow Jones Sustainability Indices Leader หรือ DJSI Leader) ในระดับ Gold Class จากบริษัท S&P Global ใน The Sustainability Yearbook 2022

นายสุรพล บุพโกสุม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน2 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กล่าวว่า ความยั่งยืน คือ สิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากไม่นับรวมในเรื่องผลประกอบการ จะทำอย่างไรให้บริษัทที่จดทะเบียนกับ SET มีความยั่งยืนและเติบโตอย่างมีคุณภาพ จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ในระยะยาว เนื่องด้วยสถานการณ์ในโลกปัจจุบันที่มีความผันผวนตลอดเวลา ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้นักลงทุนเองต้องประเมินความเสี่ยงด้าน ESG และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการลงทุน ด้วยเหตุนี้ SET จึงสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน รวมถึงกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่ากิจการในระยะยาวที่เชื่อมโยงกับแนวคิด ESG ผ่านการจัดทำรายงานประจำปี โดยระบุตัวชี้วัด เช่น เรื่องนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อม นโยบายการจัดการสังคม ฯลฯ และประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น การจัดการพลังงาน การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำ การดูแลของเสีย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการสร้างความยั่งยืนที่ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น ยังสนับสนุนให้องค์กรวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด ESG ด้วยการสร้างสมดุลของทั้ง 3 องค์ประกอบสำคัญให้เกิดขึ้นให้การดำเนินธุรกิจ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นแรงขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจควรเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality Identification & Assessment) และจัดการประเด็นสำคัญของธุรกิจ (Develop Strategy &Plan) ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างกรณีศึกษาของ SCG ที่นำมาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่าง

นายธีรพันธุ์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า เรื่องของความยั่งยืน คือ เป้าหมายใหญ่และมิใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากสิ่งที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นไว้ในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นเวที COP21 ที่ปารีส ที่ว่าเราจะลด Greenhouse-Gas Emission 20-25% ภายใน ค.ศ. 2030 และ ในเวที COP26 ที่อังกฤษ ในการเข้าสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ เป็น Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี 2065  ขณะที่ในต่างประเทศมีการเก็บ Carbon Tax หากแนวโน้มของตัวเลขในประเทศไทยยังมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รวดเร็วพอที่จะสอดรับกับแผน ในอนาคต Carbon Tax อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในบ้านเรา ดังนั้น เราควรต้องเตรียมความพร้อม เริ่มจากการจัดเก็บข้อมูล การสำรวจความเสี่ยง การบริหารจัดการ เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ  ประเด็นสำคัญหนึ่งที่คุณธีรพันธุ์เล่าถึงที่ Peter Drucker กล่าวว่า You can’t manage what you can’t measure. ถ้าเราอยากจัดการอะไร เราควรเริ่มจากการเก็บข้อมูลที่ดีก่อนเพื่อให้มีเกณฑ์วัดได้ และอาจพัฒนาเครื่องมือเพื่อสามารถช่วยจัดการพัฒนาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น นอกเหนือจากนี้คุณธีรพันธุ์ยังได้กล่าวถึงตัวอย่างเคสจากประสบการณ์ในมุมของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการน้ำ การจัดการของเสีย การจัดการพลังงาน โรงงาน การพัฒนาและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การจัดการความเสี่ยง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การจัดการเปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืน กระบวนการผลิตการจัดซื้อที่โปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคม การบริหารด้านความเสี่ยง ความปลอดภัยและสุขภาพ การจัดการตึกอัจฉริยะ การพัฒนาบุคลากร เป็นต้น  ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการใช้องค์ประกอบที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน กระบวนการ ตลอดจนเทคโนโลยีในการจัดการด้าน Infrastructure เพื่อเป้าหมายสู่ความยั่งยืน

นางสาวรุจิรา รัถยาวิศิษฏ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายพัฒนากระบวนการธุรกิจกลุ่มองค์กร บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยน (TU) เป็นบริษัทผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับการทำงานด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด กลยุทธ์การดำเนินงานและเป้าหมายขององค์กรจึงมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาของ UNSDG ที่ว่าด้วยเรื่องการขจัดความหิวโหยของมนุษยชาติ, การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน, การลดขยะเป็นศูนย์ และการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เรามุ่งเน้นกระบวนการทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกๆ ขั้นตอน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้เห็นภาพ คุณรุจิราได้เล่าถึงกระบวนการทำงานที่มีการนำเอาเทคโนโลยี เข้ามาตอบโจทย์ ได้แก่ 1. บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Packaging) โดยมีเป้าหมายคือ100%ของpackagingภายใต้แบรนด์ของTUจะต้องมีการreusable, recyclable หรือ compostable ภายในปี 2025  2.การเก็บข้อมูลของบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ (Material Master Packaging) ลักษณะจำเพาะ รวมถึงเปอร์เซ็นต์ของส่วนผสมที่ผลิตจากพลาสติกเพื่อนำมาประมวลผลและโชว์เป็นDashboard  3. ระบบเก็บข้อมูลพื้นฐานของกุ้ง โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมช่วยตรวจสอบเรื่องฟาร์มกุ้งและข้อมูลย้อนกลับของระยะการเลี้ยงกุ้ง โดยร่วมกับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียม ซึ่งจะมีการนำเอา AI และ Machine Learning มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยจำลองข้อมูลในการตรวจวัดคุณภาพและหาสารปนเปื้อน  4. การตรวจสอบย้อนหลัง (Traceability) มีการใช้ระบบที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบย้อนหลัง ตั้งแต่กระบวนการผลิต ระยะเวลาการจัดเก็บ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ทั้งสายพันธุ์ปลา ล็อตผลิตสินค้า  ฯลฯ  เพื่อการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ความมุ่งมั่นเหล่านี้ทำให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการตอบรับให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์เป็นปีที่แปดติดต่อกัน

นายพลาย สมุทวณิช ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในมุมธุรกิจพลังงาน กัลฟ์ได้วางกลยุทธ์สู่ความยั่งยืนโดยมุ่งเน้นเรื่อง Human Capital (ทุนทรัพยากรมนุษย์) ที่ตระหนักถึงสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรเป็นหลัก โดยบริษัทฯ ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า BBS (Behavior Base Safety Application) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมและวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยให้กับคนทำงานในโรงงาน ซึ่งจะมี Data ที่แสดงผลออกมาด้วยค่า  LTIFR  (Lost Time Injury Frequency Rate หรือ อัตราความถี่ของการบาดเจ็บจากการทำงาน) อีกเรื่องที่มุ่งเน้นคือ Operational Efficiency (ประสิทธิภาพการดำเนินงาน) ของการผลิตไฟฟ้า เราจะมีการนำเอาเทคโนโลยีมาสร้างเป็น Dashboard เพื่อช่วยให้ฝ่ายต่างๆ เช่น ผู้จัดการโรงไฟฟ้า คนทำงานและผู้บริหารเห็นภาพเดียวกัน สามารถปรับทั้งมุม Finance และ Operation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลลัพธ์การทำงานของโรงไฟฟ้า และให้สอดคล้องกับงบประมาณการลงทุน รวมไปถึงสามารถบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

ด้าน มร. เดวิด โคลเรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน, เอสเอพี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า SAP เป็นหนึ่งใน 32บริษัทแรก ที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ United Nations Global Compact (หรือ UNGC) ซึ่งมีเป้าหมายในการกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาใช้นโยบายในการดำเนินกิจการซึ่งมีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โจทย์ของเราในฐานะผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์โซลูชั่นสำหรับองค์กร คือ เราทราบกันแล้วว่าอะไรคือ Driver ในเรื่อง Sustainability แต่ที่สำคัญคือจะทำให้เกิด Action ได้อย่างไร ในมุมของ SAP นั้นคือการเป็น Exemplar ที่สร้างแบบอย่างของแผนปฏิบัติและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เราสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับโมเดลธุรกิจ และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่แตกต่าง เช่น การจัดการพลังงาน เป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutral ภายในปี 2023  ด้วยกลยุทธ์ 3Zero ได้แก่ 1. Zero Emission with Climate Action 2.Zero Waste with Circular Economy และ 3. Zero Inequality with Social Responsibility โซลูชั่นอย่างเช่น Holistic Steering & Reporting ได้ถูกพัฒนาเพื่อประมวลข้อมูลจากการดำเนินธุรกิจมาแสดงในรายงาน นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเพื่อการ traceability ซึ่งทำให้สามารถควบคุมเลือกผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต เพื่อสามารถนำมาใช้กำหนดการตัดสินใจ ปรับกระบวนการให้สอดคล้องภายใต้เป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ตั้งไว้

#THSUG # ThailandSAPUserGroup #Sustainability#SAPSuccessFactors #SAP #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share