ETDA ตั้งศูนย์คาดการณ์อนาคตธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมจับมือ NIA หนุนอนาคตดิจิทัลไทย

nกองบรรณาธิการ

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ  สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กล่าวว่า ETDA ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในการตั้งศูนย์คาดการณ์อนาคตธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Foresight Center by ETDA เพื่อศึกษาวิจัยภาพอนาคตที่แกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลการคาดการณ์อนาคตด้านดิจิทัลของไทย ที่พร้อมเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้สนใจ และสามารถนำไปใช้หรือต่อยอดในการดำเนินงานได้

ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวจะครอบคลุมการคาดการณ์อนาคตดิจิทัลไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ผ่าน 4 ประเด็นสำคัญประกอบด้วย ธุรกรรมดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสะท้อนภาพอนาคต รวมถึงช่วยในการเตรียมตัวสำหรับการรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรู้เท่าทันและเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญซึ่งจะเข้ามามีบทบาทช่วยให้ประเทศได้มีการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นสอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศและกระแสโลกได้ ดังนั้น การที่ ETDA หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าศึกษาการจัดทำภาพฉายอนาคต หรือ Foresight Research เพื่อนำประเทศไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

ด้าน ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า จากการศึกษา Foresight Research ผ่าน 4 ประเด็น ได้แก่ ธุรกรรมดิจิทัล, ปัญญาประดิษฐ์, การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต พบว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ ทุกประเด็นข้างต้น จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก โดย ธุรกรรมดิจิทัล  จะกลายเป็น“New Frontier of Barter Economy” หรือ พรมแดนใหม่ของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ที่ทุกการทำธุรกรรมจะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสื่อกลาง สามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ทางดิจิทัล (เช่น NFT หรือ Non-Fungible Token เป็นต้น) ได้อย่างอิสระ หรือการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้ในโลกเสมือนที่อาจจะคู่ขนานไปกับโลกแห่งความเป็นจริง นำไปสู่การกำหนดกฎระเบียบหรือแนวทางใหม่ที่ไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ ยังมีภาพอนาคตที่ต้องจับตาเฝ้าระวัง เพื่อหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น คือ “Backlash of e-Madness” หรือ การทำธุรกรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผ่านตัวกลางหรือพื้นที่ที่ยากต่อการตรวจสอบและผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงหนักขึ้นกว่าเดิมก็ได้ ขณะที่ ปัญญาประดิษฐ์ (หรือ AI) จะเข้ามาสร้างให้เกิดสมดุลในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “Micro Intelligence for Everyone” ที่การใช้งานจะไม่กระจุกตัวอยู่ที่หน่วยงานหรือองค์กร แต่จะขยายไปสู่ระดับบุคคลด้วย และจะเกิด AI ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละองค์กรหรือผู้ใช้งานได้มากขึ้น (Customized AI) และจะกลายมาเป็นผู้ช่วยเราได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น ช่วยสื่อสารข้อมูลตามข้อเท็จจริง และช่วยในการตัดสินใจ เป็นต้น เนื่องจากในอนาคต AI จะก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ จนทำงานแทนมนุษย์ได้เกือบทุกด้าน ทำให้บทบาทของมนุษย์อาจถูกลดทอนและมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วย AI อย่างเต็มรูปแบบ จนอาจส่งผลให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้น้อยลง และในที่สุดอาจจะถูกครอบงำโดย AI ได้  หรือที่เรียกว่า “Big Brain Colonization” สำหรับในประเด็น การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จะทำให้ประชาชนก้าวสู่โลกดิจิทัล มีตัวตนบนโลกเสมือน ที่เชื่อมโยงตัวตนบนโลกแห่งความเป็นจริง โดยที่ไม่มีใครสามารถสวมรอยได้หรือที่เรียกว่า “All of Us Are Digitized” ในขณะเดียวกัน ในโลกเสมือนทุกคนสามารถกำหนดเพศ ศาสนา ตลอดจนความเชื่อในเชิงจริยธรรมเองได้ การรับมือกับปัญหานี้ อาจต้องมีการกำหนดแนวทาง รวมถึงกฎระเบียบที่เหมาะสมและรัดกุมมากขึ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อและความปลอดภัยในการมีตัวตนบนโลกดิจิทัล ลดอัตราการเกิด “Battle of My Identity” หรือตัวตน ‘อวตาร’ ที่นำไปใช้ในการก่อเหตุในโลกออนไลน์และยากต่อการติดตาม นอกจากนี้ ในประเด็นของอินเทอร์เน็ต ก็เป็นเรื่องที่จะช่วยส่งเสริม Digital Ecosystem ในประเทศไทย โดยในอนาคตอินเทอร์เน็ตจะเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดสรรให้ประชาชนได้ใช้อย่างมีคุณภาพและครอบคลุม ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ และทำให้เกิดกิจกรรมบางอย่างที่สามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น การผ่าตัดทางไกลโดยใช้คนควบคุม เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังในเรื่องนี้ คือ อนาคตอาจพบข้อมูลมหาศาลในโลกอินเทอร์เน็ตที่อาจทำให้การตรวจสอบและการคัดกรองเป็นไปได้ยาก อาจมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การหลอกลวงและภัยคุกคามทางไซเบอร์ จนอาจขยายเป็นภัยที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง หรือที่เรียกว่า “Algorithmic Dystopia” เป็นต้น

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนายการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า ETDA และ NIA ได้ร่วมมือกันด้านการคาดการณ์อนาคตเมื่อ 2 ปีที่ผ่าน และในการเซ็นสัญญาครั้งนี้เป็นการต่อยอดความร่วมมือในการทำนวัตกรรมทางด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Transaction ที่สามารถรองรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวการทำงานของภาครัฐ หรือ Government Technology (Gov Tech) สู่การจัดตั้งสถาบันมองอนาคต หรือ ศูนย์คาดการณ์อนาคต เพื่อนำไปสู่การทดสอบด้านนวัตกรรม ใน 4 เรื่องได้แก่ ธุรกรรมดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางด้านดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นการส่งเสริมทั้งภาครัฐและเอกชนทางด้านดิจิทัลและนวัตกรรม นำไปสู่การคาดการณ์ทางด้านดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ NIA และ ETDA ยังได้มีการลงนามความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการคาดการณ์อนาคต และการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในผู้ประกอบการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้กรอบและแนวทางการดำเนินงาน 2 ประเด็น ได้แก่

.1) การมองอนาคต (Foresight) เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการมองอนาคตร่วมกัน ส่งเสริมการยกระดับเครือข่ายของการมองอนาคต ตลอดจนส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศที่รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตในอนาคต

.2) การทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนทางด้านเทคนิค โครงสร้างพื้นฐาน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้กับผู้ให้บริการนวัตกรรม (Innovation Service Providers) ผู้เชี่ยวชาญ ที่สนใจนำนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไปให้บริการ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมบนฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการนวัตกรรม

#NIA #innovation #ETDA #Foresight #ETDA #ศูนย์คาดการณ์อนาคตธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ #ForesightCenterbyETDA

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share