วิศวฯ ธรรมศาสตร์ ผนึก กสอ. ช่วยเอสเอ็มอีไทย

กองบรรณาธิการ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ใช้ “อินเตอร์เน็ตออฟ ติงส์” เทคโนโลยีต้นทุนต่ำ ช่วยเอสเอ็มอีปรับกระบวนการทำงานภาคการผลิต ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ หนุนผู้ประกอบมีรายได้มั่นคง ภายใต้โครงการ “การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในภาคอุตสาหกรรม SMEs”

ศุภกิจ พฤกษอรุณ อาจารย์ประจำภาควิชาไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า TSE ได้ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดย กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม เปิดโครงการ “การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในภาคอุตสาหกรรม SMEs” การให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการ ผ่านการเลือกใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ โดยมุ่งยกระดับศักยภาพกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้มีความมั่นคงทางรายได้ และพร้อมขับเคลื่อนมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยอย่างเข้มแข็ง อันตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เป็นมากกว่าวิศวกร” ที่มิได้โฟกัสเพียงการพัฒนาวิศวกรรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังมุ่งถ่ายทอดและเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์เข้ากับทุกบริบทของประเทศไทย

โดยที่ผ่านมา TSE ได้ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการประยุกต์เทคโนโลยี “อินเตอร์เน็ตออฟ ติงส์” (Internet of Things) หรือไอโอที (IoT) ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในภาคอุตสาหกรรม SMEs อย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงพื้นที่สำรวจกระบวนการทำงานภายในโรงงานของผู้ประกอบการ พร้อมให้คำปรึกษาในการปรับปรุงกระบวนการทำงานของแรงงานได้อย่างตรงจุด ผ่านการพัฒนาระบบเฝ้าตรวจแรงงานอัจฉริยะ ระบบเฝ้าตรวจเครื่องจักรอัจฉริยะ ปรับใช้ในกระบวนการผลิต อาทิ ธุรกิจฟาร์มไข่ไก่ เดิมที่ต้องสูญเสียพนักงาน ในการนับไข่และติดตามสุขภาพแม่ไก่ในโรงเรือน จำนวน 6-7 คน ก็สามารถไปทำงานในส่วนอื่น ๆ ได้ ธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องใช้เมลามีน เดิมที่มีข้อจำกัดด้านทักษะการปฏิบัติงานและมาตรฐานเวลาในการทำงาน ก็สามารถทำงานได้รวดเร็วและมีมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ IoT ถือเป็นเทคโนโลยีต้นทุนต่ำ ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนได้อย่างสะดวก เพียงมี ระบบตรวจจับ (IoT board) ที่ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ติดตามการทำงาน และนับจำนวนชิ้นงาน/นับรอบการผลิต เช่น ไข่ไก่ แผ่นคอนกรีต พร้อมประมวลผลเพื่อช่วยให้การนับจำนวนแม่นยำยิ่งขึ้น ระบบแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน การส่งข้อความแจ้งเตือน อาทิ การทำงานของอุปกรณ์ การเริ่มกะการทำงาน ผลผลิตสินค้าในแต่ละกะการทำงาน พร้อมแสดงผลผ่านระบบ Line Notify บนสมาร์ทโฟนของผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประหยัดเวลาของผู้ประกอบการในการควบคุม ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรม นับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการผลิตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) กลับเผชิญกับข้อจำกัดจำนวนมาก อาทิ การสูญเสียโอกาสทางรายได้ อันเนื่องมาจากความชำนาญในการผลิตของแรงงาน การมีข้อมูลเชิงสถิติการที่คลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดจากการขาดความแม่นยำในการนับจำนวนของบุคคล ดังนั้น การมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ อย่าง IoT เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงทุกสิ่งสู่ระบบอินเตอร์เน็ต ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีผลผลิตที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน สามารถพัฒนากระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนพัฒนาทักษะเเละฝีมือเเรงงานอย่างเป็นระบบ และเกิดกระบวนการทำงานใหม่ที่มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

ด้านธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า TSE มุ่งส่งเสริมและผลักดันบุคลากรนักวิจัย ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเชิงลึกในสาขาต่าง ๆ รวมถึงนักศึกษา เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ซึ่งครอบคลุมโรงงานอุตสาหกรรมในระดับเอสเอ็มอี ภายใต้กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning : PBL) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนการทำงานในเชิงบวก และการประยุกต์ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ นักศึกษายังได้รับประสบการณ์นอกห้องเรียน จากการลงมือปฏิบัติจริง อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการผลักดันบุคลากรนักวิจัยและนักศึกษาแล้ว TSE ยังเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ผ่านการผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่าง “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม” เพื่อร่วมยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย ให้พร้อมก้าวสู่ “อุตสาหกรรมยุคใหม่” อย่างยั่งยืน

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขอคำแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โทรศัพท์ 02 202 4562 เว็บไซต์ https://ddi.dip.go.th

#วิศวฯธรรมศาสตร์ #กสอ. #เอสเอ็มอีไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share