กระทรวง พม. จับมือ AIS ACADEMY ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต แก้วิกฤติประชากร ลดทอนความเหลื่อมล้ำ อย่างยั่งยืน

กองบรรณาธิการ

จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนธันวาคม 2566 พบว่า ไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 13,064,929 คน คิดเป็น 20.17% ของประชากรรวม มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8,901,145 คน คิดเป็น 14% ของประชากรรวม นอกจากนี้ไทยก็ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องโดยมีจำนวนการเกิดเพียงประมาณ 6 แสนคนต่อปี นอกจากจำนวนประชากรไทยโดยรวมจะเริ่มลดลงแล้ว ไทยจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) ซึ่งมีสัดส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีถึงร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่าร้อยละ 30 

เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาพรัฐและเอกชน

AIS Academy ได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ผ่านโครงการ “ภารกิจคิดเผื่อ” เพื่อสร้างความเข้มแข็งในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต แก้วิกฤติประชาชนให้มีการดำเนินชีวิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

โดยความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 อาทิ โครงการ AIS Academy for THAIS, อุ่นใจอาสาพัฒนาชีพ และ ห้องสมุดดิจิทัล ล่าสุดได้สานต่อความร่วมมืออีกครั้ง ตอกย้ำ “ภารกิจคิดเผื่อ” ที่พร้อมเป็นไม้ขีดไฟเล็กๆ จุดประกายความคิดให้เกิดเป็น

กองไฟแห่งการทำงานจากทุกภาคส่วนเพื่อประชาชนร่วมกัน ผ่านการสร้างนวัตกรรม ทักษะความรู้ และโอกาสใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืนผ่านการทำ  Hackathon อย่างเป็นรูปธรรม

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตประชากรของไทย ทั้งอัตราเด็กเกิดน้อยลง จำนวนวัยแรงงานลดลง ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่า ปี 2579 ประเทศไทย จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 30% ท้าทายการทำงานของ พม.เป็นอย่างมาก พม. จึงให้ความสำคัญ และเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ ครอบคลุมเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพ การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อเป็นแรงงานให้กับประเทศ รวมถึงการเสริมพลังวัยทำงาน โดยจะต้องตั้งตัว เพื่อสามารถสร้างครอบครัว และดูแลสมาชิกในครอบครัวได้ ตลอดจนคำนึงถึงการพัฒนาระบบที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว เอื้อให้ประชาชนมีหลักประกันในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมที่มีคุณภาพ อันเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย

ไม่เพียงแต่ พม.เท่านั้น ในวันนี้เราได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆทุกภาคส่วน เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ และสิทธิสวัสดิการของภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ทั้งในเรื่องการให้บริการประชาชน การพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยบริหารจัดการองค์กร นำไปสู่ประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนทุกช่วงวัย เราเชื่อว่าความร่วมมือกับ AIS ภายใต้โครงการ “ภารกิจคิดเผื่อ” จะเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ในการหนุนเสริมการทำงานระหว่างกัน  เพื่อนำไปสู่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมสร้างความเท่าเทียม อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างยั่งยืน นายอนุกูล กล่าว

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช กล่าวว่า ภายใต้การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการเติบโตแบบร่วมกันของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้กับคนไทยทุกกลุ่ม เพราะเราเชื่อว่าการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรงไม่ได้สร้างการเติบโตให้กับภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ศักยภาพของดิจิทัลเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มโอกาส และลดช่องว่างในการแสดงศักยภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสต่างๆ รวมทั้งการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน หรือ Digital Inclusion อีกด้วย

“การดำเนินงานภายใต้ “ภารกิจคิดเผื่อ” โดย AIS Academy นั้น สอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 10 คือ การลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (Reduce Inequalities) รวมถึง ข้อ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ ข้อ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางสังคม ซึ่งพนักงาน AIS พร้อมจะมีส่วนช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ขจัดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจ และการเมือง เพื่อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ดังนั้นการร่วมทำงาน กับ กระทรวง พม. ตั้งแต่ปี 2564 จึงเป็นการนำศักยภาพ จุดแข็งของพนักงานและองค์กร ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาส่งต่อ แบ่งปัน  ในฐานะเครื่องมือ (Solutions) ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ยกระดับขีดความสามารถประชาชนและสังคม ให้ผ่านพ้นวิกฤติประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่าตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงานร่วมกัน ทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาของแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้สามารถนำองค์ความรู้มาสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยกลุ่มต่างๆได้อย่างตรงจุด อันประกอบไปด้วยแนวทางการทำงานในแกนต่างๆ ดังนี้

1. สร้างนวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนพิการและผู้สูงอายุ ผ่านโครงการ Jump Thailand Hackathon 2024

2. สร้างทักษะยกระดับการพัฒนาอาชีพผ่านโครงการ Train The Trainer จากโค้ชอุ่นใจอาสา ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงฯเพื่อส่งต่อไปยังประชาชนในการพัฒนาอาชีพต่อไป

3. สร้างความรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจาก Digital Content ในรูปแบบของบทเรียน โดยพนักงานอุ่นใจอาสา

4. สร้างโอกาสเข้าถึงความรู้อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการห้องสมุดดิจิทัล ปันความรู้ ด้วยแพลตฟอร์ม AIS ReadDi พร้อมมอบแท็บเล็ตเพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านโลก Digital อีกด้วย

นางสาวกานติมา กล่าวว่า AIS Academy ขอเป็นเสมือนไม้ขีดไฟเล็กๆ ที่พร้อมจะจุดประกายการรวมพลังของสังคมในการร่วมทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย จากศักยภาพของพนักงาน , เทคโนโลยีดิจิทัลทันสมัยและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล, การมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง พร้อมด้วยช่องทางการเข้าถึงประชาชนมากกว่า 45 ล้านรายทั่วประเทศที่จะเป็นเสมือนโอกาสในการ ลดช่องว่าง ขจัดความเหลื่อมล้ำ อันจะเป็นการสร้างโอกาสให้เค้าได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ รวมถึงเป็นการส่งต่อพลังใจไปสู่กลุ่มประชาชนที่ยังคงอยู่ในภาวะพึ่งพิง ให้ก้าวพ้นจากปัญหาวิกฤติประชากรได้ในท้ายที่สุด

“เราต่างเป็นไม้ขีดไฟแต่ละก้าน ส่งผ่านประเทศไทยของเราก็จะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและส่องสว่างไปด้วยกัน” นางสาวกานติมา กล่าว

ซึ่งความร่วมมือกับทาง กระทรวง พม. สามารถทำให้ประชาชนกว่า 700,000 คน เข้าถึงกิจกรรมและโครงการที่ทาง AIS และ พม. ทำภายใต้ ภารกิจคิดเผื่อ โดยสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำลดช่องว่างลง สามารถผลิตประชากรที่มีประสิทธิภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน อุ่นใจอาสา จะเอาเทคโนโลยีมาเป็นองค์ประกอบในการช่วยลดความเลื่อมล้ำให้คนเข้าถึงและมีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ และชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมแสดงความสามารถผ่านการทำ  Hackathon อย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องของอินโนเวชัน ซึ่งจะช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ จะทำให้สังคมน่าอยู่ เข้มแข็งขึ้น และ โครงการ Hackathon จะร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในการส่งนักศึกษาเข้ามาพัฒนาโครงการนวัตกรรมเพื่อสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบและสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริงด้วย

“กระทรวง พม. ทำภาระกิจคนเดียวไม่ได้ ไม้ขีดไฟก้านแรกอาจเริ่มที่ AIS และ พม. แต่สุดท้ายแล้วต้องการที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการรองรับวิกฤตประชากร การทำ  Hackathon เป็นการเอาคนรุ่นใหม่มาร่วมออกแบบให้กับสภาพสังคมที่มีความท้าทาย คือ คนพิการและผู้สูงอายุ โดยมีคนรุ่นใหม่ มาร่วมบูรณาการและออกแบบสภาพสังคม เพื่อตอบโจทย์ความสมดุลที่จะรองรับปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้น เช่น คนพิการ มีเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก มีการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อคนทั้งมวล สามารถดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือคนไม่คล่องตัวได้ เป็นไปไม่ได้เลยที่ พม. จะทำเพียงลำพัง เพราะคุณภาพชีวิตคน เกี่ยวกับสุขภาพการพัฒนาศักยภาพ อาชีพ ความเป็นอยู่ รายได้ AIS เป็นแบบอย่างสำคัญที่จะทำให้ดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันในการขับเคลื่อนสังคมไทย” นายอนุกูล กล่าว

#AIS #AISAcademy #กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ #กระทรวงพม. #โครงการภารกิจคิดเผื่อ #ThaiSMEs

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share