ส.ส.ท. พร้อมสร้าง 1,000 SMEs รองรับตลาดออโตเมชั่น

จิรพรรณ บุญหนุน

กองบรรณาธิการ

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เผย 4 กลยุทธ์หลักเพื่อยกระดับธุรกิจไทย พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรสร้าง SMEs รองรับตลาด Automation

มังกร โรจน์ประภากร กรรมการและผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวว่า สมาคมฯ มีกลยุทธ์หลัก 4 แนวทางในการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ในประเทศไทยประกอบด้วย

1. จัดฝึกอบรมแก่พนักงานซึ่งทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมและนักศึกษาจบใหม่ซึ่งต้องการสร้างธุรกิจทางด้านออโตเมชั่นของตนเอง โดยสมาคมฯ มีแผนที่จะร่วมกับพันธมิตรในการอบรมพนักงานและนักศึกษาจำนวน 3,000 คน ต่อไตรมาส และคาดว่าจะสามารถผลักดันให้ผู้เข้าอบรมสร้างธุรกิจเป็นของตนเอง ทั้งนี้สมาคมฯ ตั้งเป้าที่จะสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้มีกิจการเป็นของตัวเองประมาณ 500 บริษัท และคาดว่าแต่ละบริษัทจะมีรายได้ปีละประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้แก่ธุรกิจในประเทศไทยได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยในระยะแรกของการอบรมจะเน้นการอบรมระบบออโตเมชั่นทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีความต้องการในตลาดจำนวนมาก และการอบรมนี้จะเริ่มได้ในเดือนกันยายน 2563

2. สร้างเครือข่ายให้แก่นักธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจใหม่สามารถมีเครือข่ายและมีความร่วมมือในการทำธุรกิจระหว่างกัน

3. เป็นแหล่งความรู้ หรือ Social Knowledge Center ในการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ และเป็นแหล่งความรู้ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจผลิตเครื่องจักรออโตเมชั่นป้อนตลาด เช่น เครื่องจักรออโตเมชั่นสำหรับหั่น หรือเครื่องจักรที่ช่วยคัดเมล็ดกาแฟ เป็นต้น

“สมาคมฯ จะเป็นแหล่งความรู้  เราจะพยายามเอาความรู้จากผู้ที่มีจิตสาธารณะมารวมกันไว้ทำเป็น Open source หากนักธุรกิจที่ต้องการหาข้อมูลไปผลิตเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องจักรในอุตสาหกรรมอาหาร และสามารถมาหาความรู้ที่สมาคมได้ เช่น เครื่องจักรสำหรับสับมะม่วง ซึ่งสมาคมฯ จะเป็น Social Knowledge Center ที่สามารถแบ่งปันและถ่ายทอดความรู้ในเรื่องที่ถนัดให้ได้” มังกร กล่าว

4. การให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัดมาตรฐานทางอุตสาหกรรม เช่น การวัดความเป็นมาตรฐานของเครื่องอบลำใยแห้งแบบอัตโนมัติ เป็นต้น

“ผมอยากเห็น SMEs ขนาดเล็กเกิดขึ้นเยอะๆ คนพวกนี้ตั้งธุรกิจมาแล้วต้องเติบโต และต้องมาเสริมทักษะอย่างต่อเนื่อง สมาคมฯ จะช่วยธุรกิจให้ผลิตเครื่องจักรซึ่งได้มาตรฐาน และช่วยทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น ตลาดญี่ปุ่น เป็นต้น“ วิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์ อุปนายกด้านกลยุทธ์และแผน สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวและว่าในอนาคต สมาคมฯ ยังจะช่วยในเรื่องของ การจับคู่ธุรกิจ (Business matching) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมเอสเอ็มอีของไทยให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องและอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้สมาคมฯ มีแผนจะเปิดอบรม STEM (Science Technology Engineering and Mathematics) สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 8-12 ปี เช่น วิชาหุ่นยนต์ วิชาการเขียนโปรแกรม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยังจะจัดผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นวัยเกษียณซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย มาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน รวมถึงถ่ายทอดความรู้แก่นักธุรกิจไทยที่ต้องการเรียนรู้การทำงานจากนักธุรกิจญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ด้วย โดยโครงการ STEM และ การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากนักธุรกิจญี่ปุ่นวัยเกษียณซึ่งอยู่ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต (Life Long Learning) จะเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาสที่สี่

“สมาคมฯ จะรวบรวมนักธุรกิจญี่ปุ่นที่รีไทร์แล้ว เชิญมาให้คำปรึกษาในรูปแบบรีไซเคิลความรู้จากเค้ากลับมา  เราจัดพื้นที่ให้มานั่งคุยกัน และเราจะจัดทีมภูมิปัญญาของเราเพื่อให้มีการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ไปสู่นักธุรกิจที่สนใจ” วิวัฒน์ กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Follow by Email
Pinterest
LinkedIn
Share